ทำอย่างไรดีเมื่อลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว

การเป็นคุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีอะไรมากมายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของลูก โดยเฉพาะสื่อทางสังคมต่าง ๆ ที่ลูกได้ยิน ได้เห็นและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ นำมาสู่ปัญหาที่แสดงออกของพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับปัญหาลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ที่หลายครอบครัวกำลังประสบอยู่ ปัญหานี้มีสาเหตุและผลกระทบ ตลอดจนแนวทางในการป้องกันปัญหาอย่างไรบ้าง วันนี้สาระดีดีมีคำตอบมาฝากทุกท่านครับ

อาการที่แสดงให้เห็นว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกน้อยโดยเฉพาะในวัย 0-5 ขวบ คือลูกเริ่มมีพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเอง มีอารมณ์หงุดหงิดเมื่อไม่ได้อะไรดั่งใจ ขาดความอดทน เมื่อพฤติกรรมรุนแรงขึ้นเด็กจะเริ่มงอแงนั่งลงกับพื้น ขว้างปาข้าวของ หรือวิ่งไปกัด อาละวาดหรือตีคนที่อยู่รอบข้าง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญคือการได้เห็นตัวอย่างจากสื่อต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมของพ่อแม่หรือคนรอบข้างนั่นเอง พฤติกรรมเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่หลวงในอนาคตหากไม่รีบป้องกันและแก้ไข เมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยเรียน ไปสู่โลกกว้างหรือสังคมใหม่ ๆ พฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำไปแสดงออกที่โรงเรียน และนำความปวดเศียรเวียนเกล้ามาสู่คุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน ดังนั้นแนวทางในการลดหรือป้องกันปัญหาลูกน้อยวัย 0-5 –ขวบ เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว อาละวาด และเอาแต่ใจตัวเอง ควรทำดังนี้ครับ

  1. พยายามสอนลูกให้รู้จักการควบคุมอารมณ์ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวพ่อแม่ผู้ปกครองอย่าก้าวร้าวตอบ ถือเสียว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้สอนลูก ถ้าลูกเริ่มอาละวาดให้หยุดความสนใจ จนกว่าเด็กสงบ พร้อมสื่อให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่จะเข้ามาหา เมื่อเขาสงบแล้ว หากเข้าไปปลอบหรือโอ๋ขณะที่ลูกกำลังอาละวาด จะทำให้เด็กเกิดการฝังใจจำว่าการแสดงพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้นั่นเอง
  2. ถ้าลูกเริ่มทำร้ายตนเอง ผู้อื่นหรือทำลายข้าวของให้หยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยความสงบ หนักแน่น เอาจริง เช่น จับมือเด็กไม่ให้ปาของ หรือตีคนอื่น จ้องตาลูก
  3. ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น รบกวนผู้อื่นให้แยกออกมาอยู่ในมุมสงบ ประมาณ 2-5 นาที พร้อมสื่อให้เด็กเข้าใจว่าการรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร แต่เด็กจะกลับเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ได้ เมื่อสงบไม่รบกวนผู้อื่น
  4. การสอนให้บอกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่ตำหนิตัวเด็ก เช่น “แม่รักหนูแต่ไม่ชอบการตีคนอื่น” ที่สำคัญพ่อกับแม่ต้องแสดงตัวอย่างให้เห็น ไม่ทะเลาะหรือใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูก
  5. ช่วงปกติหมั่นฝึกวินัย ความรับผิดชอบ ร่วมทำกิจกรรมกับลูกหาโอกาสชื่นชมความสามารถ สิ่งไหนลูกทำได้ดีต้องชื่นชมและส่งเสริม

อยากให้ลูกเป็นคนเก่งและคนดี หน้าที่ของพ่อแม่คือการให้ความรักความใส่ใจ เมื่อลูกเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว ให้ใช้ความนุ่มนวลในการแก้ปัญหา สอนลูกให้รู้จักการใช้เหตุผล ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูลูกครับ